Hotline 083-411-9393
Sunday , 27 July 2025
Home Lifestyle เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ เข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวภาคประชาชน ชี้กฎหมายต้องเอาผิดผู้กระทำจริงจัง หยุดลอยนวล และคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายรอบด้าน จึงจะหยุดความรุนแรงในครอบครัวได้ เตรียมล่า 20,000 รายชื่อหนุน
Lifestyle

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ เข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวภาคประชาชน ชี้กฎหมายต้องเอาผิดผู้กระทำจริงจัง หยุดลอยนวล และคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายรอบด้าน จึงจะหยุดความรุนแรงในครอบครัวได้ เตรียมล่า 20,000 รายชื่อหนุน

สมาชิกเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ จำนวน 10 องค์กร เข้ายื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฉบับภาคประชาชนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน และนางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยและคณะ เข้าร่วมรับหนังสือขอริเริ่มเข้าชื่อเสนอแก้ไขร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวของภาคประชาชน เป็นการปรับปรุงและยกเครื่องกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ เน้นดำเนินการทางอาญากับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และเพิ่มกลไกคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย หวังช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้จริง

ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา ในฐานะผู้แทนกลุ่มประชาชนผู้ริเริ่มยื่นเรื่องเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภา ชี้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีจุดที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ ที่สำคัญคือเรื่องหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งไปเน้นการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว แทนที่จะให้ความสำคัญสูงสุดกับการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวตามชื่อของกฎหมาย

“พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำในครอบครัวฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปเน้นที่การรักษาครอบครัวให้อยู่ร่วมกัน แทนที่จะเน้นคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยและการพื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรง ผลที่ตามมาก็คือ กฎหมายขาดมาตรการที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงอย่างจริงจัง มีการกำหนดอัตราโทษจำคุกฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้เบากว่าอัตราโทษของความผิดลักษณะเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งยังเปิดช่องและสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อยอมความ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้รัดกุมและคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายอย่างเพียงพอ กลายเป็นความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย

“กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับมายาวนานถึง 18 ปี โดยไม่เคยถูกแก้ไขปรับปรุงเลย จริงอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังมีความพยายามแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่พวกเราองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมายาวนาน เราเห็นว่าร่างของ พม. ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ยังมีข้ออ่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้รายมาตราในประเด็นย่อย ขณะที่เรามองว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องถูกรื้อและยกเครื่องใหม่ โดยเน้นให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง และมีมาตรการที่รอบด้านในการคุ้มครองสวัสดิภาพและฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย เราจึงริเริ่มร่าง พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชนขึ้น เพื่อหวังให้การปรับปรุงกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด และเตรียมล่า 20,000 รายชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภา” ดร. วราภรณ์ กล่าว

ขณะที่ นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (SHero Thailand) หนึ่งในคณะผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฉบับภาคประชาชน ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชน ที่นำมายื่นต่อสภาฯ ในวันนี้ เป็นกฎหมายที่พัฒนาขึ้นโดยยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง (survivor-centered) อย่างแท้จริง มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในแง่ของสิทธิ สวัสดิภาพความปลอดภัย และการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย โดยไม่ผลักภาระให้ผู้เสียหายต้องยอมความเพื่อรักษาครอบครัวหรือยอมคืนดีกับผู้กระทำความรุนแรงทั้งที่ยังมีความเสี่ยงถูกกระทำซ้ำอย่างที่เป็นมา

“ร่าง พ.ร.บ. ของภาคประชาชนฉบับนี้ มีจุดแข็งคือการเปลี่ยนกรอบคิด จากการมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องในครอบครัวหรือเรื่องส่วนตัว ไปสู่การยอมรับว่าความรุนแรงในครอบครัวคืออาชญากรรมที่มีรากฐานจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม และต้องอาศัยมุมมองทางเพศและสิทธิมนุษยชนมาอุดช่องว่างของกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่เดิม เราจึงออกแบบกฎหมายให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาและมีการลงโทษตามที่กฎหมายอาญาระบุไว้ ขณะเดียวกัน เราก็เพิ่มกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายที่ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ในการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มกระบวนการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายแบบสหวิชาชีพ โดยมีผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการรายกรณีคอยช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และสำหรับผู้กระทำความรุนแรงที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเอง เรายังได้กำหนดให้มีมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวควบคู่ไปกับกระบวนการทางศาล ซึ่งจะช่วงยับยั้งโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะไปกระทำผิดซ้ำ” นางสาวบุษยาภา กล่าว

Recent Posts

Categories

Related Articles

CADT DPU จัด Flight Simulator Landing Challenge 2025 สร้างแรงบันดาลใจสู่อาชีพนักบินพร้อมเปิดหลักสูตร ป.ตรี ควบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี ภายใน 3.5 ปี

วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันการบินเสมือนจริงโดยเครื่องจำลองการบิน (Simulator) ภายใต้โครงการ Flight Simulator Landing Challenge 2025...

Trip.com Group ตอกย้ำบทบาทผู้นำท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เปิดตัวฟีเจอร์แสดงข้อมูลปล่อยคาร์บอนทุกการเดินทาง พร้อมดูแลชุมชนและพนักงานครบทุกมิติ

Trip.com Group ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุด โดยรายงานนี้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่สำคัญของบริษัทในด้านความยั่งยืน โดยมีหลักการ “Friendly Four” เป็นแนวทาง ได้แก่ การเป็นมิตรต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นมิตรต่อชุมชน...

สสส.– มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ผนึก โรงเรียนเสนานิคม จัดนิทรรศการสัญจร “FAKE OR FRESH?” ปลูกภูมิคุ้มกันเด็กไทย “เลือกได้ ดูออก” เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดนิทรรศการสัญจร FAKE OR FRESH? – MY LIFE EXHIBITION ภายใต้โครงการ...