Hotline 083-411-9393
Sunday , 27 July 2025
Home Lifestyle เจแอลแอล เผยการเติบโตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กระตุ้นตลาดอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง
Lifestyle

เจแอลแอล เผยการเติบโตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กระตุ้นตลาดอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีความพร้อมสูงในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลของเจแอลแอล (NYSE: JLL) ระบุว่าศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีมูลค่าอย่างน้อย 6.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 220,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้ประเทศสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตและนวัตกรรมในระดับภูมิภาค

เจแอลแอลคาดการณ์ว่าขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามนโยบาย “30@30” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยที่กำหนดเป้าหมายให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 30% ต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 นั้น นับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบาย 30@30 นั้นประกอบด้วยเงินอุดหนุนจำนวนมาก การลดภาษี และมาตรการ EV 3.5 ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2567-2570

“ประเทศไทยได้แสดงความชัดเจนผ่านการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 และมาตรการ EV 3.5 ว่าเรามีความมุ่งมั่นและแรงผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของภูมิภาค แรงจูงใจเหล่านี้สามารถดึงดูดทั้งกลุ่มนักลงทุน ผู้ผลิต และซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมาก แต่หากต้องการสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง เราไม่อาจมองข้ามบทบาทของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นรากฐานในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไปได้” นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและอินโดนีเซีย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์  (JLL) กล่าว

ในปี 2567 การผลักดันด้านกลยุทธ์ของไทยสามารถดึงดูดเงินทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมที่ทำสัญญาแล้วประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินทุนก้อนใหญ่นี้ยังรวมถึงเงินลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์ (49 พันล้านบาท) จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนซึ่งรวมถึงบริษัทบีวายดี  (BYD) และเงินลงทุน 4.4 พันล้านดอลลาร์ (150 พันล้านบาท) โดยผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย 30@30 เพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% จากทั้งหมดตามเป้าหมายภายในปี 2573 ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตแบตเตอรี่มากกว่า 34 GWh ให้ได้จากภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการแสวงหาพื้นที่เพื่อการผลิตและพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมใหม่นี้ด้วย โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ารวมที่ 167,000 คัน ซึ่งคิดเป็น 26.4% ของเป้าหมายปี 2573 ซึ่งต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 440,000 คัน

นายไมเคิล แกลนซี่ กล่าวย้ำว่า “การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เฉพาะทางที่สามารถรองรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตจำนวนมาก และการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

กิจกรรมและการพัฒนาที่สำคัญหลายด้านยังช่วยตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังเติบโต และเพื่อรักษาและกระตุ้นแรงผลักดัน ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเสนอเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่สร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างฮุนไดและศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน (CATARC) ก็ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นในประเทศแล้ว นอกจากนี้ บีวายดียังได้เปิดตัวคลังชิ้นส่วนอะไหล่แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ รวมถึงเทสลาก็ได้สร้างโรงงานแบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยศูนย์บริการและคลังชิ้นส่วนอะไหล่ไว้ในแห่งเดียว

เจแอลแอลยังคาดการณ์ถึงการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นของทุกภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์และการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนยาง

“การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในภาคธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การผสานสิ่งจูงใจจากภาครัฐ แรงงานที่มีทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งรายใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในระบบนิเวศให้ครอบคลุมมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายด้านรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความแตกต่างและโดดเด่นไปอีกหลายทศวรรษ” นายไมเคิล แกลนซี่ กล่าวทิ้งท้าย

Recent Posts

Categories

Related Articles

CADT DPU จัด Flight Simulator Landing Challenge 2025 สร้างแรงบันดาลใจสู่อาชีพนักบินพร้อมเปิดหลักสูตร ป.ตรี ควบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี ภายใน 3.5 ปี

วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันการบินเสมือนจริงโดยเครื่องจำลองการบิน (Simulator) ภายใต้โครงการ Flight Simulator Landing Challenge 2025...

Trip.com Group ตอกย้ำบทบาทผู้นำท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เปิดตัวฟีเจอร์แสดงข้อมูลปล่อยคาร์บอนทุกการเดินทาง พร้อมดูแลชุมชนและพนักงานครบทุกมิติ

Trip.com Group ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุด โดยรายงานนี้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่สำคัญของบริษัทในด้านความยั่งยืน โดยมีหลักการ “Friendly Four” เป็นแนวทาง ได้แก่ การเป็นมิตรต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นมิตรต่อชุมชน...

สสส.– มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ผนึก โรงเรียนเสนานิคม จัดนิทรรศการสัญจร “FAKE OR FRESH?” ปลูกภูมิคุ้มกันเด็กไทย “เลือกได้ ดูออก” เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดนิทรรศการสัญจร FAKE OR FRESH? – MY LIFE EXHIBITION ภายใต้โครงการ...